ฟักเชื่อม ขนมไทยโบราณ พร้อมสูตรลับชาววัง

ฟักเชื่อม

ฟักเชื่อม ขนมไทยโบราณ พร้อมสูตรลับชาววัง รู้หรือไม่ว่า ฟักเขียวที่เราใช้ทำอาหารคาวอย่าง แกงฟักไก่ แกงจืด หรือนำไปจิ้มน้ำพริกแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นเมนูขนมหวานได้อีกด้วย โดยขนมหวานที่เราสามารถพบฟักเขียวได้ทั่วไปนั่นก็คือ นำมาเป็นไส้ขนมปัง ไส้ขนมเปี๊ยะ ทานคู่กับน้ำเต้าหู้ ซึ่งจะต้องผ่านวิธีการเชื่อมก่อน เราเรียกว่าฟักเชื่อม ที่สามารถนำไปทำขนมแบบอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย หรือจะทานเล่นเปล่าๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน ซึ่งฟักเชื่อมเองก็เป็นขนมที่หลายๆ คนชื่นชอบเป็นอย่างมาก แต่อาจจะยังไม่รู้ขั้นตอนการทำ วันนี้เราจึงจะมาแจกสูตรการทำ ฟักเชื่อมสูตรโบราณ ใครที่อยากทดลองทำรับประทานเอง หรืออยากจะทำขาย สามารถนำสูตรนี้ไปใช้ได้เลยค่ะ

วัตถุดิบและวิธีการทำ ฟักเชื่อม

ส่วนผสม

  • ฟักเขียวแก่
  • น้ำปูนใส
  • น้ำตาลทราย
  • สารส้มทุบละเอียด

วิธีการทำ

  1. ขั้นตอนแรก ให้นำฟักเขียวไปหั่นเป็นชิ้นพอดีคำให้เท่าๆ กัน แล้วนำไปล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วนำไปพักให้สะเด็ดน้ำ
  2. จากนั้น นำฟักที่เตรียมไว้ใส่ลงในภาชนะสำหรับผสม แล้วเติมน้ำปูนใสใส่ลงไปให้ท่วม จะเป็นการช่วยเพิ่มความกรอบได้อย่างยาวนาน จากนั้นให้แช่ทิ้งไว้ 1 คืน
  3. เมื่อครบ 1 คืนแล้ว ให้นำฟักเขียวมาล้างเพื่อล้างกลิ่นของปูนใสออกไปให้หมด จากนั้นให้พักทิ้งไว้
  4. นำน้ำใส่หม้อ ตั้งเตา เปิดไฟระดับปานกลาง
  5. เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ใส่สารส้มที่ทุบละเอียดตามลงไป
  6. เมื่อสารส้มใกล้ละลาย ให้ปิดเตา แล้วเทฟักเขียวใส่ลงไปในหม้อ เป็นการเพิ่มความกรอบและความใสของฟัก
  7. ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ให้นำฟักออกมาใส่ในกะละมังแช่น้ำแข็ง เพื่อทำการน็อก
  8. เมื่อฟักเขียวเริ่มคลายความร้อนแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดอีกครั้งแล้วนำไปตากแดด
  9. จากนั้นให้นำฟักใส่ลงในกะละมัง แล้วโรยน้ำตาลลงไป ให้ทำสลับชั้นกันไประหว่างฟักและน้ำตาลเป็นชั้นๆ คลุมด้วยแร๊ปห่ออาหาร แล้วทิ้งไว้ 1 คืน
  10. เมื่อครบ 1 คืน ตั้งกระทะ เปิดไฟแรง แล้วนำฟักเทลงไป จากนั้นค่อยๆ คนเบาๆ เมื่อมีน้ำเริ่มไหลออกมาจากฟักให้เปลี่ยนเป็นไฟกลาง แล้วเป็นไฟอ่อน ค่อยๆ สังเกต จนกว่าน้ำตาลจะเริ่มเคลือบฟัก ก็ปิดเตาได้เลย
  11. เมื่อเสร็จแล้ว ให้นำฟักเชื่อมขึ้นมาผึ่งจนแห้งสนิท เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ฟักเชื่อม เป็นขนมที่ทำหนึ่งครั้ง แต่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานเป็นเดือน มีรสชาติ กรอบ หวาน อร่อย นิยมนำไปทำเป็นไส้ขนมปัง และมักจะนำไปทำเป็นขนมไหว้ ขนมมงคลต่างๆ หากในช่วงเทศกาลตรุษจีน ใครที่ต้องการนำฟักเชื่อมไปทำเป็นไส้ขนมเปี๊ยะ ก็สามารถนำสูตรนี้ไปใช้งานได้เลยค่ะ ฟักเชื่อมสูตรโบราณ รับรองว่าอยู่ได้นาน แถมมีรสชาติอร่อยแบบดั้งเดิมแน่นอน

เมนูอาหารเพิ่มเติม : เมนูเด็ด

อ้างอิง : วิกิพีเดีย