กานาฉ่าย กินกับข้าวสวยก็ได้ กินกับข้าวต้มร้อน ๆ ก็ดี สำหรับคนที่ไม่ชอบกินผัก คงจะต้องส่ายหน้ากับเมนู กานาฉ่าย แน่ ๆ เพราะส่วนผสมทั้งหมดของมันเป็นผักล้วน ๆ แต่สำหรับคนที่ชอบก็สามารถกินได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเทศกาลกินเจก็ได้ ส่วนลักษณะของมันจะออกสีดำคล้ำ ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยน่ากินเท่าไหร่ แต่รสชาติโดยรวมของมันจะออกไปทางเปรี้ยวบวกเค็มเล็กน้อย หากไปซื้อกินเองที่ร้านอาจจะได้รสเปรี้ยวมากกว่า เพราะบางร้านอาจจะไม่ได้ล้างความเปรี้ยวออกจากผักกาดดองมากนัก ดังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะทำ กานาฉ่าย เก็บไว้กินเอง อย่างน้อยเราก็สามารถควบคุมรสชาติให้เป็นไปตามที่ต้องการได้
วัตถุดิบและวิธีการทำ กานาฉ่าย
ส่วนผสม
- ผักกาดดอง
- ลูกสมอ
- น้ำมันพืช
- น้ำตาลทราย
- เกลือป่น
- น้ำเปล่า
วิธีการทำ
- นำผักกาดดองไปซอยแล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นบีบน้ำออกให้แห้งแล้วพักรอไว้
- หั่นลูกสมอเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปผัดกับน้ำมัน แล้วก็ใส่ผักกาดดองซอยลงไป
- เติมน้ำเปล่าตามลงไปแล้วเคี่ยวให้ได้ที่ และเติมน้ำมันสำหรับผัดต่อไป
- เติมน้ำตาลกับเกลือป่นลงไปเล็กน้อย ถ้าผักกาดดองเค็มอยู่แล้วไม่ต้องใส่เกลือป่นก็ได้
- เมื่อทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ให้ตักใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เก็บไว้กินได้ถึง 1 เดือน
ซึ่ง กานาฉ่าย สูตรนี้เป็นสูตรทั่วไปตามที่ร้านทำขาย แต่บางที่ก็มีการเพิ่มเห็ดหอมลงไปเป็นส่วนผสมด้วย แล้วแต่ว่าเราจะชอบสูตรไหน ส่วนสีดำหลังจากที่เคี่ยวเสร็จไม่ต้องกลัวว่ามันจะติดฟัน เพราะมันเป็นเพียงสีของส่วนผสมเท่านั้น
ข้อดี และข้อเสียในการกินกานาฉ่าย
ข้อดีของการกิน กานาฉ่าย คือ มันมีสรรพคุณในการช่วยขับพิษ, แก้ร้อนใน, ทำให้ชุ่มคอ, ลดอาการเจ็บคอ, คอบวม, ไอ รวมถึงสามารถแก้พิษจากอาหารทะเลได้อีก แต่การกินในปริมาณที่เยอะเกินไป ย่อมส่งให้เกิดผลเสีย เนื่องจากว่ามันเป็นของหมักดองแปรรูป ทางที่ดีให้แบ่งกินในปริมาณที่พอดีจะดีกว่า ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบยิ่งไม่ควรกินเข้าไปใหญ่
นอกจากนี้ถ้าใครที่ชอบการซื้อกินมากกว่าการทำเอง จะต้องระวังเรื่องของการใส่สารกันบูด เนื่องจากบางร้านอาจไม่ได้ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องใส่สารกันบูดลงไปเพื่อที่จะได้เก็บขายได้นาน ถ้าเราได้รับสารนี้สะสมไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดพิษเรื้อรังได้ ดังนั้น การทำอาหารกินเองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าการซื้อ