แกงเปรอะใส่หมูสามชั้น อร่อยสไตล์ถิ่นอีสาน เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่คนของแต่ละภาคว่า ไอ้เจ้าแกงหน่อไม้เนื้อข้น รสเข้มชนิดนี้มีการเรียกว่าอะไร ในทางภาคอีสานเรียกกันว่า แกงหน่อไม้ แต่ในภาคกลางเรียกกันว่า แกงเปรอะ ซึ่งหน้าตาของแกงก็ไม่ได้เหมือนกันเท่าไหร่ จนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตามมาตรฐานมันต้องเป็นแบบไหนกันแน่ แถมบางตำราก็บอกว่ามันเป็นอาหารทางเหนือไปอีก แต่ไม่ว่าใครจะเรียกยังไงก็แล้วแต่ เราขอเป็นตัวกลางในการนำเสนอสูตรของ แกงเปรอะใส่หมูสามชั้น อร่อยสไตล์ถิ่นอีสาน มาให้แล้วกัน ส่วนจะถูกหรือไม่ก็คงต้องให้รู้ผู้มาชี้แจง ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ เพราะแต่ละสูตรก็มีความโดดเด่นต่างกัน
วัตถุดิบและวิธีการทำ แกงเปรอะใส่หมูสามชั้น
ส่วนผสม แกงเปรอะใส่หมูสามชั้น
- หน่อไม้สด
- ชะอม
- เห็ดนางฟ้า
- เห็ดหูหนู
- ฟักทอง
- ใบแมงลัก
- น้ำใบย่านาง
- ตะไคร้
- หอมแดง
- พริกกะเหรี่ยง
- หมูสามชั้น
- น้ำปลาร้าต้ม
- น้ำปลา
- ผงปรุงรสเห็ด
- ข้าวเบือ
- เกลือ
วิธีการทำ
- ใส่ตะไคร้, หอมแดง, พริก และเติมเกลือเล็กน้อยลงในครก ตำแค่พอหยาบรอไว้ก่อน
- ตั้งหม้อต้มน้ำใบย่านางรอให้เดือด จากนั้นนำเครื่องแกงด้านบนใส่ลงไป
- ต้มหมูสามชั้นให้สุกรอไว้ จากนั้นใส่หน่อไม้สดลงในน้ำใบย่านาง แล้วค่อยตามด้วยหมูสามชั้น
- ใส่เห็ดหูหนูกับฟักทองลงไปต้มให้สุก
- ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า, น้ำปลา, ผงปรุงรสเห็ด และข้าวเบือลงไปคนให้เข้ากัน
- ใส่ชะอมกับใบแมงลักเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้วปิดไฟ
- ตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ
ข้าวเบือ ของภาคอีสาน หมายถึง ข้าวสารเหนียวที่นำไปแช่น้ำให้นิ่มแล้วนำไปตำจนแหลก เพื่อที่จะได้เติมลงไปในน้ำแกงให้มีความข้นขึ้น ซึ่งเครื่องแกงของแต่ละพื้นที่นั้นก็จะใช้แตกต่างกันไป บางพื้นที่อาจใช้พริกแกงเผ็ด หรือพริกแกงคั่วแทนพริกตำ บางที่ก็มีการเพิ่มปลาย่าง หรือใช้ข้าวคั่ว
นอกจากนี้บางสูตรของ แกงเปรอะใส่หมูสามชั้น อาจจะใส่หน่อไม้กับหัวตาลอ่อนลงในหม้อผัดเครื่องแกง ที่ประกอบด้วยตะไคร้, ผิวมะกรูด, พริกไทย, ข่า, ปลาเค็มตำ และหมูสามชั้น แล้วค่อยใส่น้ำลงต้มไปให้เข้าเนื้อ จากนั้นปรุงรสให้อร่อยด้วยน้ำปลาร้ากับน้ำตาล โดยชิมให้มีรสเค็มนำหวานตาม และปิดท้ายด้วยใบมะกรูดกับตะไคร้ซอย ซึ่งสรรพคุณของสมุนไพรในแกงนี้ สามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค, ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และช่วยขับลมในลำไส้ได้ด้วย